|
เขียนเมื่อ: 24 ธันวาคม 2551
กลไกในการถ่ายภาพเช่นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรูรับแสง ความไวชัตเตอร์ ค่า ISO
สำหรับคนเริ่มที่จะสนใจการถ่ายรูปใหม่ๆ อาจจะเข้าใจยากซักหน่อย
เคยไปแนะนำการถ่ายรูปให้กับคนที่เพิ่งเริ่มสนใจถ่ายรูป
โดยสอนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรูรับแสง ความไวชัตเตอร์ ค่า ISO
ก็สังเกตได้เลยว่า "มันค่อนข้างจะย่อยยาก" ยิ่งถ้าระยะเวลาการสอนน้อย
ประกอบกับคนสอน อธิบายไม่เก่ง(อย่างเช่นผมเป็นต้น)
ก็จะทำให้คนรับได้แต่ความงงงวยกลับไปแทนที่จะได้ความเข้าใจเรื่องการถ่ายรูป
เลยมาคิดได้ว่า ต้องยกตัวอย่างประกอบ อาจจะช่วยได้มากขึ้น
ให้ลองคิดว่า
ตัวคุณนั่งอยู่ในห้องที่มีหน้าต่างอยู่บานหนึ่งเพื่อเปิดรับลมให้พัดเข้ามา
จะให้สบายก็ต้องรับลมอย่างพอเหมาะไม่ร้อน ไม่เย็นเกินไป
วิธีที่จะรับลมอย่างพอเหมาะมี 2 วิธี
คุณอาจจะเปิดหน้าต่างกว้างๆ เพื่อรับลมมากๆ แต่ก็ต้องรีบปิดหน้าต่างเพราะถ้าเปิดค้างนานๆอาจจะหนาว เป็นหวัดได้
หรืออาจจะเปิดหน้าต่างแคบๆ แต่เปิดค้างไว้นานๆ ให้ตัวคุณรับลมอย่างพอเหมาะ แล้วค่อยปิดหน้าต่าง
ถ้าจะเปรียบเทียบกับกลไกของการถ่ายรูปก็จะตามข้างล่าง
กล้อง = ห้อง และ ตัวคุณ
รูรับแสง = หน้าต่าง
ความไวชัตเตอร์ = ระยะเวลาเปิด-ปิดหน้าต่าง
แสง = ลม
แล้วค่า ISO จะเทียบกับอะไร
ให้ลองคิดไปอีกว่า ถ้าตอนนั้นลมไม่ค่อยมี
เราก็ต้องเปิดหน้าต่างกว้างๆ แต่เราก็ไม่อยากเปิดหน้าต่างค้างไว้นานนัก
เพราะขโมยมันอาจจะปีนเข้ามาได้(จริงๆด้านการถ่ายรูปมันมีเหตุอื่นนะ อิอิอิ)
ตัวช่วยของเราคือ พัดลม
ถ้ายังเย็นไม่พอเหมาะ ก็เปิดพัดลม เบอร์ 1
ถ้ายังเย็นไม่สบายตัว ก็กดไล่เบอร์ 2 3 4 ไปเรื่อยๆจนกว่าจะไม่มีปุ่มให้กด :)
พัดลมมันมีข้อเสียตรงที่ เสียงจะดังอยู่ซักหน่อย
ยิ่งคุณภาพไม่ดี มันจะเสียงดัง
ยิ่งเปิดเบอร์สูงไปเรื่อยๆ เสียงยิ่งดังมากขึ้น สร้างความรำคาญอย่างเลี่ยงไม่ได้
มีได้ ก็ต้อง มีเสีย ตามธรรมชาติ แต่ถ้าพัดลมคุณภาพดีราคาแพง
เสียงอาจจะไม่ดัง จนถึงเงียบเอามากๆ แต่ก็แพงใช่เล่น
ISO = พัดลม
Noise(สิ่งรบกวนเมื่อ ISO สูงขึ้น) = เสียงพัดลมน่ารำคาญ
สรุปแบบจำง่ายๆก็คือ
ถ้า รูรับแสง(หน้าต่างเปิด) กว้าง ความไวชัตเตอร์(ระยะเวลาเปิดปิดหน้าต่าง) ต้อง เร็ว
ถ้า รูรับแสง(หน้าต่างเปิด) แคบ ความไวชัตเตอร์(ระยะเวลาเปิดปิดหน้าต่าง) ต้อง ช้า
เพื่อให้ได้รับแสง(ลม)ที่พอเหมาะ
แต่ถ้าสภาพแสง(ลม)น้อย ก็ต้องเพิ่ม ISO(เบอร์พัดลม) เพื่อให้รับแสง(ลม)ได้มากขึ้น
ค่า ISO สูง(เปิดพัดลมเบอร์สูงๆ) เท่าไหร่ Noise(เสียงรบกวน) ก็จะเพิ่มขึ้นตามมา
ปล. อาจไม่ตรงตามตำรามากนัก ผิดพลาดประการใด ก็ขออภัยไว้ด้วยนะครับ
เอาไว้ครั้งหน้าจะมาบ่นให้ฟังใหม่ :)
http://swordofheart.multiply.com
กลับหน้าแรก
|
|
|